ชนิดและประเภทของกระจก

ประเภทกระจกใส
November 23, 2016

ชนิดและประเภทของกระจก

กระจกตัดแสงยูวี (Reflective)

กระจกตัดแสงยูวีหรือกระจกรีเฟล็กทีฟเป็นกระจกที่ผ่านเทคโนโลยีการเคลือบผิว กระจกด้วยระบบ Sputtering โดยเป็นเทคโนโลยีการเคลือบโลหะสะท้อนแสงลงบนกระจก ช่วยป้องกันการขีดข่วนบนชั้นฟิลม์ที่เคลือบ ง่ายต่อการบำรุงรักษาและการขนส่ง ด้วยคุณสมบัติการป้องกันความร้อนและการแผ่ความร้อนจากดวงอาทิตย์ กระจกตัดแสงยูวีจึงเป็นระบบกระจกที่ช่วยประหยัดพลังงานของระบบปรับอากาศภายใน ในขณะเดียวกันฟิลม์ที่เคลือบชั้นกระจกมีองค์ประกอบของโลหะชนิดพิเศษที่ช่วยให้แสงผ่านได้มากเป็นพิเศษ ช่วยส่งผลให้แสงที่ผ่านเข้ามาเพียงพอต่อความต้องการในการใช้แสงในระหว่างวัน เปิดโอกาสให้สถาปนิกสามารถออกแบบอาคารได้อย่างอิสระและคล่องตัวขึ้นเพราะมีสีสรรมากมาย รวมถึงสามารถกำหนดปริมาณแสงสะท้อนสู่ภายนอกและแสงที่ผ่านเข้ามาสู่ตัวอาคารได้

กระจกเทมเปอร์ (Tempered)

กระจกเทมเปอร์ คือกระจกที่มีชั้น Compressive Stress อยู่บนผิวกระจกและมีชั้น Tensile Stress อยู่บริเวณเนื้อในกระจก ซึ่งก่อให้เกิดความสมดุลของกระจกเป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเกิดรอยร้าวบริเวณผิวกระจกและรอยร้าวขยายตัวเข้าสู่ชั้น Tensile Stress กระจกจะลั่นแตกเองทันที อย่างไรก็ตามรอยร้าวที่เราพบเห็นกันมักเกิดจาก 2 สาเหตุคือ การกระแทกจากภายนอก และการมีสิ่งเจือปนอยู่ภายในเนื้อ กระจก ซึ่งเมื่อแตกแล้วกระจกจะมีลักษณะคล้ายเม็ดข้าวโพด ทำให้อันตรายน้อยกว่ากระจกแบบปกติ

กระจกนิรภัย (Laminated)

กระจกลามิเนตหรือกระจกนิรภัย คือการนำกระจกตั้งแต่สองแผ่นขึ้นไปมาประกบกันและยึดกลางกระจกด้วยฟิลม์ PVB (Poly Vinyl Butyral) ซึ่งมีคุณสมบัติการป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตได้มากถึง 99% กระจกนิรภัยเป็นกระจกที่ให้ความปลอดภัยสูงมากเมื่อเทียบกับกระจกประเภทอื่น เนื่องจากเป็นกระจกที่เคลือบยึดกลางแผ่นด้วยฟิลม์ ซึ่งเมื่อแตกกระจกจะยังถูกดึงไว้ด้วยฟิลม์ ส่วนรอยแตกจะคล้ายกับใยแมงมุมร้าวไปทั้งแผ่นและไม่สามารถที่จะแตกทะลุแผ่นฟิลม์ได้

กระจกหน้าต่างกันเสียง,กระจกสองชั้น (Insulate)

กระจกสองชั้น,กระจกกันเสียง,กระจกฉนวนกันความร้อน,หน้าต่างกันเสียงหรือกระจกอินซูเลท เป็นเทคโนโลยีการใช้งานกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปนำมาซ้อนกันโดยใช้แผ่นอลูมิเนียมขั้นไว้ระหว่างกลางเพื่อให้เกิดช่องระหว่างกระจก ตรงช่องว่างดังกล่าวสามารถที่จะปล่อยเป็นช่องอากาศเปล่าหรือเลือกที่จะอัดก๊าซเฉื่อย(อาร์กอน) เข้าไปเพื่อช่วยกันความร้อนก็ย่อมได้ กระจกฉนวนกันความร้อนสามารถป้องกันความร้อนเข้าสู่ภายในได้เป็นอย่างดี กระจกจะไม่เกิดฝ้าแม้อุณหภูมิภายในและภายนอกจะแตกต่างกัน ป้องกันเสียงได้ดีระดับหนึ่งและเป็น กระจกที่ช่วยประหยัดพลังงาน

กระจกสะท้อนแสง (Low-E)

กระจกสะท้อนแสงแบบ “โลว์ - อี” เป็นกระจกที่ผ่านการเคลือบชั้นโลหะโดยระบบ Pyrolytic ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเคลือบกระจกที่บางมาก มีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนที่มาจากดวงอาทิตย์เปรียบเสมือนฉนวนกันความร้อน นอกจากนี้ยังให้ค่าในการสะท้อนความร้อนที่ต่ำรวมถึงค่าในการถ่ายเทความร้อนที่ต่ำอีกด้วย

กระจกโฟลทใส (Clear Float Glass)

กระจกโฟลทใส คือกระจกที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยระบบโฟลทที่ทันสมัย ระบบดังกล่าวจะช่วยให้ผิวของกระจกทั้งสองด้านเรียบสนิทเพื่อการรับชมวิวภายนอกที่ชัดเจนกว่ากระจกทุกประเภท ดั้งนั้นกระจกชนิดนี้จึงเป็นกระจกใสที่ถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองการใช้งานในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง งานตกแต่งผลิตภัณฑ์ และเหมาะกับการใช้งานในอาคารสมัยใหม่ที่ต้องการช่องเปิดขนาดใหญ่ ความหนามีให้เลือกตั้งแต่ 2 – 20 มม. กว้างตั้งแต่ระดับ 3 เมตร ยาวได้ถึง 12 เมตรต่อบาน

กระจกตัดแสง (Tinted Float Glass)

กระจกตัดแสงหรือเรียกอีกแบบว่ากระจกโฟลทสี คือกระจกที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยระบบโฟลทเช่นเดียวกันกับโฟลทใส กระบวนการจึงแทบไม่ต่างกับ กระจกโฟลทใส แตกต่างกันตรงที่เพิ่มสารประกอบเช่น อ๊อกไซด์ของโลหะบางประเภท ได้แก่ เหล็ก และโคบอลต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับความร้อนที่ดีขึ้น โดยทั่วไปสีของกระจกโฟลทสีมีให้เลือก 3 สี ไดเแก่ สีชาดำ สีเขียวเข้มและสีฟ้าเข้ม โดยสีดังกล่าวเป็นสีที่ออกแบบมาให้เสริมภาพลักษณ์ของอาคารและไม่มีผลต่อการมองทะลุเข้าออกแต่อย่างไร

กระจกลวดลาย (Figured Glass)

กระจกลวดลาย คือกระจกที่ถูกพิมพ์ลายลงไปบนด้านหนึ่งของกระจก โดยด้านหนึ่งจะมีผิวขรุขระตามลวดลายและอีกด้านหนึ่งจะมีลักษณะเรียบ ตัวกระจกจะมีลักษณะกึ่งโปร่งแสงคือมองเห็นเพียงสลัวๆ ไม่สามารถมองทะลุได้ สิ่งที่เห็นจะเป็นเพียงแค่เงาลางๆเท่านั้น เป็นกระจกที่เหมาะกับงานตกแต่งภายในเป็นอย่างมาก โดยสามารถนำไปประดับเป็นกระจกสำหรับงานประตู ฉากกั้นห้อง ช่องแสงเหนือประตู กั้นโคมไฟ ฯลฯ เหมาะสำหรับสถานที่ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น บ้านพักอาศัยทุกประเภท อาคารสูง อาคารสำนักงาน โรงแรม อาคารพาณิชย์ ศูนย์แสดงสินค้า ห้องสมุด พิพิทธภัณฑ์ ฯลฯ

กระจกเสริมลวด

กระจกเสริมลวดเป็นกระจกที่มีการเสริมเส้นลวดไว้ภายในบริเวณตรงกลางของเนื้อกระจก เพื่อต้านทานการหลุดร่วงของกระจก ป้องกันการลุกลามของไฟและควันไฟ กระจกเสริมลวดสามารถเป็นผนังที่ต้านทานความร้อนได้สูงถึงเกือบ 1000 องศาเซลเซียสในระยะเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง เส้นลวดที่ฝังอยู่ในกระจกดังกล่าวยังช่วยยึดกระจกไม่ให้แตกขณะเกิดอัคคีภัย เมื่อกระจกไม่แตกเปลวไฟและควันไฟก็จะไม่สามารถผ่านกระจก เข้ามาทำอันตรายผู้คนในห้องถัดไปได้ ในแง่ของจิตวิทยา กระจกเสริมลวดยังดูคล้ายกับกระจกที่ป้องกันขโมยได้อีกด้วย เราสามารถพบเห็นกระจกแบบดังกล่าวตามบริเวณ ประตูหนีไฟ ประตูทางเข้าออกหลักของอาคารที่อาจมีการกระจายของเปลวเพลิง ของอาคารชั้นนำทั่วไป รวมถึง หลังคากระจก ในตำแหน่งสูงและคลังที่เก็บวัตถุไวไฟ เป็นต้น

กระจกพ่นทราย

กระจกพ่นทราย คือกระจกที่ผ่านกรรมวิธีการทำลวดลายบนกระจกโดยวิธีพ่นทราย การพ่นทรายเป็นกรรมวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดลวดลายบนกระจกได้ โดยทรายที่ใช้คืออะลูมินัมออกไซด์ (Aluminum Oxide) มีลักษณะเป็นผงละเอียดซึ่งแต่ละเม็ดจะมีความแข็งและความคมสูง เมื่อถูกพ่นลงบนผิวแก้วด้วยความเร็วสูงจะสามารถกัดกร่อนผิวแก้วให้เกิดเป็นรอยฝ้าลึกลงไปเนื้อแก้ว ทรายที่ใช้นอกจากจะใช้อะลูมินัมออกไซด์แล้ว ยังสามารถใช้ทรายจากธรรมชาติได้โดยการร่อนเอาเฉพาะทรายที่ละเอียดมากและต้องใช้เครื่องพ่นทรายที่มีแรงพ่นสูงมากขึ้น เพราะทรายจากธรรมชาติจะมีความแข็งและความคมน้อยกว่าอะลูมินัมออกไซด์ เวลาพ่นจึงต้องใช้เวลานานมากกว่ากรรมวิธีที่จะทำให้เกิดเป็นลวดลายตามที่เราต้องการนั้นจะใช้หลักการของการทำสเตนซิล ซึ่งเป็นกลวิธีการพิมพ์ลายฉลุ โดยการทำแม่พิมพ์แบบง่ายๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จะทำการฉลุแผ่นกระดาษหรือแผ่นโลหะเป็นลวดลายหรือภาพ แล้วพ่นหรือทาสีลงไปผ่านช่องที่ฉลุไว้ลงบนวัสดุที่ต้องการพิมพ์ ซึ่งหลักการนี้เรานำมาใช้ในการทำลวดลายบนกระจกโดยใช้สติกเกอร์พีวีซีแทนกระดาษหรือแผ่นโลหะ มาตัดฉลุให้ได้ลวดลายตามต้องการติดลงบนกระจกลอกส่วนที่ต้องการเกิดลวดลายออกแล้วใช้เครื่องพ่นทรายแทนการพ่นสีลงไป ทำให้เกิดลวดลายเป็นรอยฝ้าขาวบนพื้นแก้วที่เรียบใสตามต้องการ โดยลวดลายที่เกิดจากกรรมวิธีพ่นทรายสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ แบบโพซิทีฟ (Positive) เป็นลวดลายที่ส่วนที่เป็นลายจะเป็นสีฝ้าขาวอยู่บนพื้นแก้วใส ทำได้โดยการแกะสติกเกอร์ส่วนที่เป็นลวดลายออก แล้วพ่นทรายลงในบริเวณที่เป็นลวดลายนั้น ก็จะได้ลวดลายที่เป็นแบบโพซิทีฟ (Positive) แบบที่สองคือแบบเนกาทีฟ (Negative) เป็นลวดลายที่ส่วนที่เป็นลายจะเป็นแก้วใสอยู่บนพื้นที่เป็นฝ้าขาวโดยรอบ ทำได้โดยการแกะสติกเกอร์ส่วนที่เป็นพื้นรอบนอกออกเหลือไว้แต่ส่วนที่เป็นลวดลายและพ่นทรายลงบนบริเวณรอบ ๆ ส่วนที่เป็นลวดลาย ก็จะได้ลวดลายแบบเนกาทีฟ

กระจกดัดโค้ง

กระจกดัดโค้งจัดเป็นกระจกสำหรับงานตกแต่งอีกประเภทที่สามารถใช้ได้ทั้งกับงานภายในและภายนอก ขั้นตอนการผลิตไม่ต่างกับกระจกทั่วไป ความแตกต่างคือการเพิ่มความร้อนเพื่อให้กระจกร้อนและอ่อนตัวลงเพื่อให้สามารถทำการดัดโค้งได้ตามรูปแบบที่ต้องการ และทำให้กระจกเย็นลงเพื่อให้กระจกอยู่ตัว งานกระจก โค้งที่นิยมและพบเห็นบ่อยที่สุดคือ กระจกสำหรับยานพาหนะต่างๆเช่น กระจก รถยนต์ และ กระจก สำหรับยานพาหนะประเภทอื่นๆ ในงานก่อสร้าง กระจก ดัดโค้งจัดเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยหรูอีกประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับอาคารได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันอาคารที่ทำงานก่อสร้างอุโมงค์เพื่อเชื่อมทางเดินต่างก็นิยมใช้กระจกดัดโค้งกันแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้กระจกดัดโค้งยังสามารถนำไปใช้ประดับรอบอาคารให้ดูโค้งมนแม้โครงสร้างอาคารจะถูกก่อสร้างด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมก็ตาม ในงานประตู หน้าต่าง หากได้กระจกโค้งมาเป็นส่วนประกอบหลักจะช่วยให้ภาพลักษณ์ ประตู หน้าต่าง ดูมีราคาและเพิ่มรสนิยมมากขึ้น

กระจกฝ้า (Frosted Glass)

กระจกฝ้าคือกระจกที่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้กระจกนั้นหมดความใส เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดการมองผ่านทะลุแต่ไม่มืดในทีเดียว กล่าวคือแสงยังสามารถผ่านกระจก เข้ามาเพื่อทำให้พื้นที่ภายในสว่างขึ้นแต่ไม่สามารถมองเห็นภาพข้างหลังกระจก ได้ชัดเจน สิ่งที่เห็นมีเพียงเงาลางๆเท่านั้น กระจกฝ้ามักถูกใช้งานในบริเวณของห้องน้ำมากที่สุดเนื่องจากเป็นที่ๆต้องการความเป็นส่วนตัวสูงบวกกับเป็นสถานที่ๆไม่เหมาะกับการใช้งานผ้าม่านเนื่องจากเป็นสถานที่ๆมีความชื้นสูง ต้องการแสงผ่านเข้าในระดับหนึ่ง